สัมภาษณ์หนังสือบ้านและสวน

       ถ้ากล่าวถึงสุดยอดทุเรียนของภาคกลางก็ต้อง “ทุเรียนนนท์” ที่ใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงรสชาติที่ถูกปากผู้ที่ชื่นชอบกินทุเรียน แต่มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ทำให้แหล่งพันธุกรรมของผลไม้ชื่อดังในแถบนี้สูญหายไป บางสวนต้องขายที่ดินให้กับหมู่บ้านจัดสรร บ้างก็เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่วันนี้  “สวนตาก้าน” ได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านพลิกฟื้นผืนดินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ให้คงอยู่ต่อไป  วันนี้เราได้มีโอกาสพบกับ คุณหนุ่ม-อดิสรณ์ ฉิมน้อย เจ้าของสวนตาก้านแห่งนี้ พร้อมนำชมต้นทุเรียนปลูกใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น และคุณหนุ่มเล่าให้เราฟังว่า

        “ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สวนของเราเป็นสวนทุเรียนอันดับต้นๆ ของจังหวัดนนทบุรี มีต้นทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านขนาดใหญ่อายุกว่า 40 ปี จำนวน130 ต้น มีมังคุด มะไฟ และผลไม้อื่นๆ ตามแบบฉบับสวนผลไม้เมืองนนท์ และมีโรงเรือนอนุบาลทุเรียน ซึ่งเป็นที่เพาะชำและจำหน่ายกิ่งพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี 2551 แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ต้นทุเรียนตายหมด เหลือแต่มะไฟสองต้นกับมังคุดหนึ่งต้นเท่านั้น ก่อนที่ต้นทุเรียนทั้งหมดจะตาย เราก็เร่งตัดกิ่งที่สมบูรณ์ส่งไปให้ผู้ผลิตกิ่งพันธุ์ของเราที่จังหวัดชุมพรเสียบยอดขยายพันธุ์ไว้กว่า 10,000 ต้น จึงทำให้ทุเรียนนนท์กว่า 40 สายพันธุ์ยังไม่สูญหายไป  และหลังจากนั้นเราก็นำกิ่งพันธุ์กลับมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรี ” 

        ในวันนี้ ถึงแม้ว่าทุเรียนนนท์ยังไม่สูญพันธุ์ แต่ชาวสวนนนท์ก็พบกับอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำกร่อยที่หนุนยาวนานขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้น และพื้นดินหลังน้ำท่วมที่มีความเป็นกรดสูง จึงจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมในสวนให้เหมาะสมก่อนที่จะปลูกทุเรียน ชาวสวนนนท์ยุคนี้จึงต้องมีความตั้งใจจริงและเรียนรู้วิธีการทำสวนอย่างถูกต้อง จากการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน                

        “ปกติพื้นที่แถบนี้เป็นดินตะกอนที่มีอินทรียวัตถุทับถมมาก ปลูกพืชผักผลไม้อะไรก็งาม แต่หลังจากน้ำท่วม น้ำใต้ดินที่เป็นกรดถูกดันขึ้นมาอยู่บริเวณผิวดิน ทำให้ดินมีค่า pH สูงถึง 4.5 เราต้องใช้ระยะเวลากว่า 2 ปีในการปรับสภาพดินในสวน โดยให้ฝนชะล้างความเป็นกรดลงใต้ดินและปรับสภาพดินด้วยการปลูกพืชอื่น ๆ ก่อน เช่น ส้มเขียวหวาน กล้วย และทองหลาง” 

        การสร้างระบบนิเวศที่สมดุลก่อนการปลูกทุเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ชาวสวนนนท์จะใช้วิธีการปรับโดยธรรมชาติ คือ การปลูกพืชอื่นๆ ที่เป็นไม้บังแดด ไม้บังลม ไว้ก่อน แล้วรอให้ต้นไม้เหล่านี้ โตขึ้นไปก่อน สักระยะหนึ่งค่อยลงต้นทุเรียน เพื่อให้ต้นทุเรียนได้ร่มเงาจากไม้ข้างเคียงและช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ   “เราเลือกปลูกตระกูลส้มอย่างส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มจี๊ด เพราะรากส้มมีคุณสมบัติพิเศษที่ดีมาก คือ สามารถดูดซับสารพิษที่ตกค้างในดินและดูดซับธาตุอาหารที่พืชอื่นไม่ใช้ประโยชน์มาสะสมไว้ในปมราก และเมื่อรากส้มย่อยสลายก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารที่สะสมไว้ให้ต้นทุเรียนได้ ส่วนกล้วยเป็นพืชโตเร็ว ต้นกล้วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง และยังออกผลให้เราเก็บขายในระหว่างที่ไม่ได้ปลูกทุเรียนได้ด้วย” 

        คุณหนุ่มแนะนำว่า การปลูกทุเรียนให้เจริญเติบโตได้ดีนั้น เริ่มจากการศึกษาภูมิปัญญาทั้งการอ่านตำราและการลงมือปฏิบัติจริง โดยต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ก่อนปลูก ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดิน คุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำฝน ทิศทางลม อุณหภูมิ และแสงแดด ที่สำคัญคือ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราให้ดีเสียก่อน เราจึงจะสามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

      “ปลูกทุเรียนไม่ยาก เริ่มตั้งแต่ ดูดิน ว่าดินดี สมบูรณ์พอหรือไม่ ทุเรียนเติบโตได้ทั้งดินเหนียวและดินร่วน ที่สำคัญคือต้องไม่เป็นกรดหรือเป็นดินเค็ม ถ้าดินเค็มต้องโรยด้วยยิปซั่ม แต่ถ้าดินเปรี้ยว ต้องรอให้ฝนชะล้างลงความเปรี้ยวลงไปใต้ดินก่อน และควรปรับสภาพดินด้วยการปลูกพืชเพื่อเพิ่มแร่ธาตุในดิน  ต่อไปก็คือ ดูน้ำ ควรมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพดีอยู่ใกล้กับพื้นที่หรือในพื้นที่ เพื่อให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำเพียงพอ แต่หากบริเวณนั้นมีปริมาณน้ำฝนมากเกินไปก็ควรขุดร่องน้ำระบายเพื่อไม่ให้น้ำขังที่ราก รวมทั้ง ดูแดด การปลูกทุเรียนควรปลูกแนวตามตะวัน เพื่อให้ทุกต้นได้รับแสงแดดเพียงพอ ถ้าเราเพิ่งปลูกใหม่ ก็ต้องพรางแสงให้ต้นด้วยทางมะพร้าว หรือ สแลน  สิ่งสุดท้ายคือ ดูลม ตอนเริ่มปลูกเราต้องใช้ไม้ปัก และต้องไม่ปลูกขวางทิศทางลม คือ ปลูกแบบสลับฟันปลา เพื่อให้ลมผ่านได้ง่าย ถ้าปลูกเป็นแถวตรง เวลาพายุมาต้นล้มก็จะล้มเป็นโดมิโนเลยครับ”

        เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมา คือ การวางระยะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานในสวน  ช่วยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตดี  สามารถรับแสงรับลมอย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยในการติดดอกออกผลที่มีคุณภาพ

     “ระยะห่างระหว่างต้นทุเรียนควรห่างประมาณ  8-12  เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มของแต่ละสายพันธุ์  ซึ่งหากเป็นพันธุ์หนัก (ทรงพุ่มใหญ่) ก็ต้องปลูกให้ห่างกันประมาณ 10-12 เมตร แต่ถ้าเป็นพันธุ์เบา (ทรงพุ่มเล็ก) ก็ห่างกันประมาณ 8 เมตร แต่โดยมากชาวสวนมักจะปลูกพันธุ์หนักสลับพันธ์เบา โดยหากปลูกทุเรียนพันธุ์หนัก (ก้านยาว,หมอนทอง) ห่างกันที่ระยะ 10 เมตร และสับกลางด้วยทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่มีพุ่มขนาดเล็กที่ระยะ 5 เมตร ซึ่งระหว่างต้นทุเรียนที่ห่างกัน 5 เมตรนั้น ก็สามารถปลูกไม้ผลอื่นๆไว้ได้ด้วย พอต้นทุเรียนโตเราก็ตัดแต่งออกได้ไม่ยาก”

ทั้งนี้ การทำสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี นิยมยกร่องสวนไว้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ และปลูกทุเรียนแบบยกโคกให้สูงจากพื้นดินเพื่อระบายน้ำเวลาฝนตก  การยกโคกนี้จะช่วยให้ชาวสวนดูแลต้นทุเรียนได้ง่ายขึ้น ทั้งการพรวนดิน ใส่ปุ๋ยและการกำจัดวัชพืช 

“พื้นที่เมืองนนท์เป็นที่ลุ่ม น้ำใต้ดินสูง ต้องปลูกแบบยกร่องและยกโคก โดยเราจะขุดร่องน้ำ(ท้องร่อง)กว้าง 1.5 เมตรสลับกับพื้นดินร่องสวนความกว้าง  7 เมตร เราสามารถเตรียมดินให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ ขุดดินให้เป็นหลุม เอาดินข้างล่างขึ้น ใส่ซากพืชเศษใบไม้ กิ่งไม้หรือต้นกล้วยที่ตัดทิ้งถมลงไป ใส่ขี้หมู ขี้วัวหนึ่งกระสอบ แล้วกลบดิน เอากาบมะพร้าววางทับ ทิ้งไว้ 1 ฝน แล้วฟันดินบริเวณนั้นและย่อยดินเหล่านั้นให้เล็กลง จากนั้นจึงยกโคก โดยการพูนดินเป็นรูปกรวยกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 50-70 เซนติเมตร ตอนกลางของโคกควรใช้ดินละเอียดเพื่อให้รากของทุเรียนหากินได้ง่าย

“เมื่อเราพูนโคกแล้ว ก็นำกิ่งพันธุ์สมบูรณ์ลงปลูกตรงกลางโคก และมั่นใจได้เลยว่าการยกโคกจะช่วยให้เราดูแลและสังเกตการเติบโตต้นทุเรียนได้ง่ายกว่าการขุดหลุมปลูกอย่างแน่นอน โดยในแต่ละปีเราจะพูนโคนต้นให้กว้างขึ้นปีละ 1 เมตร พร้อมกับจัดรากให้แผ่กระจายเพื่อให้ทุเรียนโตขึ้นในลักษณะที่เป็นพุ่มสวยงาม นอกจากนี้ เราจะต้องฟันดินบริเวณรอบ ๆ โคก หรือที่เรียกว่า “การรางโคน” เพื่อป้องกันน้ำขังหากฝนตกหนัก ป้องกันรากไม้อื่นที่มารบกวนรากทุเรียน และใช้เป็นร่องสำหรับใส่ปุ๋ยได้อีกด้วย” 

       จากที่เล่ามานอกจากสภาพแวดล้อมที่ดีและเทคนิคในการปลูกแล้ว สวนตาก้านยังมีเคล็ดลับพิเศษที่ทำให้ต้นทุเรียนที่นี่ เติบโตอย่างแข็งแรงและสวยงาม โดยการใช้วิธีดูแลแบบธรรมชาติ คือ การปลูกต้นทองหลางไว้เป็นพืชบำรุงดินในสวน และมีสูตรอาหารให้กับต้นทุเรียนเป็นการปรุงดินหมักที่ใครก็สามารถทำได้ง่าย ๆ  

“ที่นี่เราจะปลูกต้นทองหลางน้ำริมท้องร่องสวน เพื่อยึดดินและบังร่มเงาให้ต้นทุเรียน ทุกส่วนของต้นทองหลางอุดมไปด้วยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ดิน  รากทองหลาง สามารถดูดเก็บเอาน้ำในดินไว้ ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น ใบที่หล่นลงท้องร่องนั้น พอครบรอบปีชาวสวนจะลอกขี้เลน ขึ้นมาถมโคนทุเรียนเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีสำหรับทุเรียน          เราจะปรุงดินหมัก โดยใช้ขี้หมูหรือขี้วัว 2 กระสอบ แกลบดิบ 4 กระสอบและมะพร้าวหั่น 1 กระสอบ ใส่เชื้อไตรโคเดอร์มาแห้งครึ่งกิโล คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วพรมน้ำ ใช้ผ้าใบคลุมไว้อย่างน้อย 10-15 วัน แล้วนำมาใส่รอบ ๆ โคนต้นทุเรียน  จากนั้นก็นำฟางหรือหญ้าแห้งปิดเพื่อรักษาความชื้นบริเวณรอบ ๆ โคนต้นทุเรียน” 

       นอกจากนี้ ชาวสวนนนท์ยังนิยมปลูกต้นไม้อื่นๆ ร่วมกับต้นทุเรียนในสวน หรือเรียกได้ว่า เป็นการ "ทำสวนผสม" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนาน โดยจะปลูกต้นไม้ในสวนให้หลากหลายและใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศในสวนและสร้างรายได้เสริมในช่วงที่ทุเรียนยังไม่ออกผล 

       “ ที่นี่เราควบคุมสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เหมาะกับทุเรียนด้วยการปลูกพืช 8 ชั้น ชั้นแรกคือไม้หัวใต้ดิน พวกขิง ข่า กระชาย เป็นพืชผักสวนครัวที่เราปลูกกิน และขุดไปขายได้ ชั้นสองก็เป็นพวกพืชที่เติบโตบนดินเป็นพุ่มเล็กๆ  อย่างตะไคร้ ใบชะพลู เราตัดขายได้ทุกวันเหมือนกัน ชั้นสาม โตขึ้นอีกก็เป็น มะเขือพวง มะเขือเปราะ พริกขี้หนู ชั้นสี่ พวกพืชล้มลุกต้นใหญ่ขึ้นอีก อย่างกล้วย ก็มีให้เลือกหลายพันธุ์ เราจะก็เก็บผลผลิตไปขายหมุนเวียนตลอดทั้งปี 

“พอชั้นห้า ก็จะเป็นพืชรอง ที่นี่ก็ปลูกส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะกรูด มะนาว และมังคุด ชั้นหกก็เป็นพืชหลักของเราคือ ทุเรียน และชั้นเจ็ดเป็นพวกมะพร้าว หมากที่สูงชะลูด ช่วยบังแดดให้พืชชั้นล่างได้ ส่วนชั้นแปดของที่นี่ก็คือ พืชที่เลี้อยตามไม้ใหญ่อย่างพวก พริกไทย ดีปลี และพืชในท้องร่อง พวกผักบุ้ง ผักกระเฉด

“พอปิดเทอม ลูกๆ ผมก็จะปลูกผักกัน ผมยกหน้าที่ปลูกต้นไม้ให้ลูก ๆ ครับ อย่างทุเรียนลูกๆ ก็ช่วยปลูก ทุกต้นเค้าปลูกหมด เค้าปลูกกันเอง เราพยายามปลูกฝังให้เค้าเรียนรู้วิถีดั้่งเดิมของเรา โดยที่ไม่ต้องไปร่ำเรียนด้านการเกษตรที่ไหน”

 

      ไม่น่าเชื่อว่าการปลูกต้นทุเรียนมีเทคนิคพิเศษที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่ายๆ แค่ใช้ธรรมชาติพึ่งพากันเท่านั้น คุณหนุ่มพาชมโรงเรือนอนุบาลทุเรียน แนะนำต้นพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน ที่มีชื่อแปลกๆ มากมายกว่า 35 สายพันธุ์ สมกับเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี” และบอกเล่าวิธีเลือกซื้อต้นพันธุ์ว่า ควรเลือกต้นพันธุ์ที่มีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นตรง แข็งแรง ใบสีเขียวเข้ม ไม่มีโรคเชื้อรา โรครากเน่าโคนเน่า

     “สำหรับคนที่อยากลองปลูก ผมแนะนำให้เลือกปลูกพันธุ์ที่เราชอบ อาจจะเป็นทุเรียนพันธุ์เศรษฐกิจอย่างหมอนทอง ก้านยาว หรือพันธุ์พื้นบ้านพวกกบสุวรรณ เม็ดในยายปรางก็ได้ พวกนี้สามปีครึ่งก็ให้ผลได้แล้ว พันธุ์ที่ขึ้นชื่อของเมืองนนท์ คือ พันธุ์ก้านยาวทรงหวด ลักษณะใบป้อมใหญ่ ผลทรงหวด เนื้อหนา เมื่อสุกเนื้อจะไม่ติดมือ ผิวเนื้อจะมีเยื่อบางๆ หุ้ม เหมือนไส้กรอก รสหวานมัน เนียน ถึงจะเป็นของแท้”

      “สิ่งสำคัญในการกินทุเรียนให้อร่อยคือ ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต ธรรมชาติของดอกทุเรียนบานไม่พร้อมกัน และจะบานช่วงเดือนมืด(ข้างแรม) ต้องรอจนดอกบานหมดทั้งต้น ก็เริ่มนับวันไปอีก 90-110 วัน จึงจะเริ่มเก็บผลได้ คนโบราณจะใช้วิธีสังเกตว่า ถ้าลูกแรกหล่น อีกหนึ่งสัปดาห์ในกลุ่มผลเดียวกันก็จะเริ่มเก็บผลได้ ที่นี่จะทยอยตัดผลแก่ประมาณ 90-95 เปอร์เซนต์ โดยสังเกตที่ขั้วจะแห้งสีคล้ำ ปลายหนามแห้งเป็นสีน้ำตาลเรื่อ และหนามกางออก เส้นในร่องหนามเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเขียวคล้ำ เท่านี้ก็แสดงว่าผลสุกพร้อมตัดครับ” 

ฟังเรื่องราวจากคุณหนุ่มแล้วอยากปลูกทุเรียนไว้กินเองบ้าง แต่ก่อนอื่นคงต้องมาเป็นเด็กฝึกงานที่สวนนี้ก่อนจะได้นำความรู้กลับไปใช้กับสวนเราบ้าง คุณหนุ่มกล่าวทิ้งท้ายว่า

“สำหรับผม การทำเกษตรอินทรีย์ไม่แพ้เกษตรเคมีแน่ๆ ขึ้นอยู่กับวิธีคิด วางแผนให้ดี ปรับพฤติกรรมการทำเกษตรใหม่ ปรับสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ได้ยากอะไร ไม่ต้องเสียเงินมาก ขอให้เราใส่ใจ และเข้าใจธรรมชาติของพืชที่เราปลูกเท่านั้น ไม่นานก็สำเร็จแน่นอนครับ”

เผยแพร่ใน หนังสือบ้านและสวน ตอน ผลไม้ในสวน VOL.7 พิมพ์ครั้งที่ 1   

ดูหนังสือได้ที่นี่     

Visitors: 449,954