กลุ่มสายพันธุ์ทุเรียนนนท์

      ในสมัยแรกๆ ทุเรียนสายพันธุ์ดีมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ แต่ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง จึงทำให้ต้นทุเรียนตายและสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก  และเนื่องจากกิ่งตอนหายากและมีราคาแพงชาวสวนจึงมักเอาเมล็ดทุเรียนมาเพาะปลูกใหม่  ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ใหม่ๆ  ขึ้นมาอีกมาก และ เกิดการตั้งชื่อพันธุ์อีกมากมาย  เพราะทุเรียนพันธุ์หนึ่งเมื่อนำเมล็ดมาปลูกแล้วมีลักษณะดีและผิดแปลกไปจากต้นเดิมเล็กน้อย  ทุเรียนต้นใหม่อาจถูกตั้งชื่อตามพันธุ์เดิมแต่เดิมชื่อผู้เพาะลงไปด้วย เช่น  พันธุ์กบตาขำ  เป็นทุเรียนที่เพาะจากเมล็ดทุเรียนกบแม่เฒ่าโดยมีผู้เพาะชื่อ นายขำ  ก็เลยให้ชื่อว่า  “กบตาขำ”

 

 การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียน

1.  ตั้งชื่อตามลักษณะผลภายนอกของผล  
   คือ พิจารณาลักษณะทรงผล หากรูปร่างคล้ายกับตัวกบก็ให้ใช้ชื่อ พันธุ์กบ หรือหากมีก้านผลที่มีความยาวเป็นพิเศษกว่าพันธุ์อื่นก็ให้ชื่อว่า  พันธุ์ก้านยาว เป็นต้น  เช่น ทุเรียนพันธุ์ตะเข้, อีบาตร, หอยโข่ง, ฟักทอง และ กระดุมทอง ฯลฯ
 
2.  ตั้งชื่อตามลักษณะผลภายใน 
   คือ พิจารณาลักษณะภายได้แก่ สีเนื้อ ปริมาณเนื้อ และเมล็ด  เช่น ทุเรียนที่มีเนื้อสีเหลืองคล้ายดอกการระเกด  ก็ตั้งชื่อว่า พันธุ์การะเกด และทุเรียนพันธุ์อื่นๆที่จัดอยู่ในประเภทนี้  คือ พันธุ์กระเทย(เนื้อมาก เมล็ดลีบ),  พันธุ์จำปา(เนื้อสีเหลืองจำปา) และ สารภี(เนื้อสีเหลืองเหมือนดอกสารภี)
 
3.  ตั้งชื่อพันธุ์ตามต้นแม่พันธุ์เดิมผสมกับชื่อผู้เพาะ 
   หากทุเรียนที่เกิดใหม่ได้จากการเพาะทุเรียนกำปั่นและนายแพเป็นผู้เพาะ ก็ใช้ชื่อว่า กำปั่นตาแพ  ส่วนพันธุ์กบเจ้าคุณ ก็เป็นพันธุ์กบที่พระยาดำเกิงรณภพเป็นผู้เพาะ และ กบพลเทพ(เจ้าคุณพลเทพเป็นผู้เพาะ) เป็นต้น
 
4.  ตั้งชื่อพันธุ์ตามต้นแม่พันธุ์เดิมผสมกับลักษณะทั่วไปของทุเรียนที่เกิดใหม่
   เช่น ทุเรียนที่เพาะกับทุเรียนพันธุ์ฉัตร นำเมล็ดมาเพาะแล้วมีเนื้อเหมือนสีนาค จึงให้ชื่อว่า "ฉัตรสีนาค" ทุเรียนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ เช่น พันธุ์กบใบไม้, กบกิ่งแข็ง, กะเทยเหลือง และ ก้านยาวลูกใหญ่ เป็นต้น 
 
5.  ตั้งชื่อตามสถานที่ที่ต้นแรกงอกขึ้น
    คือ ต้นแรกที่เพาะนั้นขึ้นอยู่ใกล้ต้นอะไรก็ให้ชื่อตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆนั้น เช่น  พันธุ์ชายมะไฟ  เพราะต้นแรกขึ้นอยู่ใกล้กับต้นมะไฟ,  ชายมังคุด  เพราะต้นแรกขึ้นอยู่ใกล้กับต้นมังคุด, ชายมะเฟือง, จำปี และ ลำเจียก เป็นต้น 
 
6.  ตั้งชื่อพันธุ์ตามต้นทุเรียนเดิมผสมกับสถานที่ที่ต้นแรกปลูก
    เช่น กระปุกตลิ่งชัน มากจากพันธุ์กระปุกทอง แต่เพาะที่ตลิ่งชัน  ทุเรียนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ พันธุ์กบหลังวิหาร และ พันธุ์กบหน้าศาล เป็นต้น
 
7.  ตั้งชื่อพันธุ์แบบเบ็ดเตล็ด
   การตั้งชื่อแบบนี้ไม่อาศัยหลักเกณฑ์อะไรเลย เช่น สายหยุด, กลีบสุนทร, จอมโยธา และ สาวชม เป็นต้น 

 

 1.  ตระกูลกบ  

        ลักษณะประจำพันธุ์ของตระกูลกบเป็นพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ดั้งเดิม  คือ  พันธุ์การะเกด  พันธุ์นี้มีลักษณะทรงพุ่มแคบ  ลำต้นสูงและตั้งตรงคล้ายกับสนหรือรูปกรวยแหลมใบเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาว  ขอบใบเรียบ  ฐานใบป้าน  ปลายใบแหลมแผ่นใบมีขนาดใหญ่ปานกลางกว้างประมาณ 6 - 7 เซนติเมตร  ยาว 15 - 17  เซนติเมตร  หลังใบสีเขียวแก่และเป็นมัน  ท้องใบสีน้ำตาลอมน้ำเงิน  ด้านหลังใบตรงกลางจะเป็นร่องลึกและกว้างสีขาวอมเขียวตลอดทั้งเส้น  ก้านใบยาว  ดอกขณะตูมมีส่วนโค้งผายออกป่องตรงกลาง  ปลายดอกเรียวแหลมเข้าทีละน้อย  ก้านดอกยาว  สีของดอกเป็นสีเขียวน้ำตาลอ่อน ผลขนาดกลาง ผลจะเป็นลักษณะคล้ายกบธรรมชาติ คือ จะมีพูแป้ว (พูที่ไม่มีเนื้อ) อย่างน้อย 1 พู เนื้อละเอียด หวานมัน 

       พันธุ์ทุเรียนตระกูลกบได้แก่ พันธุ์กบแม่เฒ่า, กบตาขำ, กบวัดกล้วย,  กบเหมราช,  กบตาพลอย,  กบเจ้าคุณ, กบพระไว   กบจำปา, กบบุญนาค และ กบหลังวิหาร

2.  ตระกูลก้านยาว  

       ลักษณะลำต้นมีรูปร่างกลมสูงชะลูดเปลือกสีน้ำตาลและมีสะเก็ดบ้างเล็กน้อย  การแตกของกิ่งจะแตกออกทางด้านข้างของลำต้นทั้งสองข้าง  ช่วงกิ่งยาวมากและเกือบตั้งฉากกับลำต้น  แผ่นใบเป็นรูปรีจนถึงเรียวยาวมีขนาดกว้างประมาณ  6  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  17 - 18  เซนติเมตร  ส่วนที่กว้างที่สุดของใบจะอยู่สูงจากฐานใบประมาณ  2  ใน  3  ของความยาวใบ  ฐานใบเป็นรูปเหลี่ยมป้านปลายใบแหลมและงอโค้งลง  ก้านใบยาวประมาณ  2  เซนติเมตร  ดอกเป็นรูปไข่ยาวรีตรงกลางโป่งออก  ปลายแหลมและโคนดอกจะเรียว  ก้านดอกจะยาวมากเห็นได้ชัด

       ลักษณะประจำพันธุ์  มีทรงผลกลมได้สัดส่วน  ด้านก้นผลจะกลมใหญ่  ส่วนขั้วผลจะมน  พูมีลักษณะสม่ำเสมอเห็นได้ไม่เด่นชัด  มีจำนวนอย่างสูง  6  พู  หนามมีขนาดโตเกือบสม่ำเสมอ  ตั้งตรงไม่งอ  ผิวผลมีสีเขียว  ก้านผล  (ไม่รวมปลิง)  มีขนาดยาวและยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ  เปลือกผลมีขนาดค่อนข้างหนา  พูมี  2 - 3  เมล็ด  มันกลมกล่อม  กลิ่นไม่ฉุน  เมล็ดมีลักษณะกลมไม่มีเมล็ดลีบ

        พันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลนี้ที่นิยมปลูก  ก้านยาว,  ก้านยาวเหลืองประเสริฐ,  ก้านยาวสีนาก,  ก้านยาวบุญยัง,  ก้านยาวใหญ่(สุดสาคร) และ ชมพูพาน

3.  ตระกูลกำปั่น  

      เดิมเรียกว่าพันธุ์  “กำปั่นเดิม”  หรือ  “กำปั่นธรรมดา”  ทรงพุ่มค่อนข้างแคบรูปกรวยคว่ำ  มียอดเรียวแหลม  ลำต้นอ้วนแข็งแรง  สูงและตั้งตรง  การแตกเรียงของกิ่งไม่เป็นระเบียบและทำมุมกับลำต้นน้อย  ขนาดของใบโตปานกลางแต่ยาวมาก  ตรงกลางของใบจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุดตอนใกล้ฐานใบจะแคบ  ปลายใบเรียวแหลมและยาวมาก  สีด้านหน้าของใบจะเขียวน้อยกว่าพันธุ์อื่นๆ  เนื้อใบเรียบไม่เป็นคลื่นเส้นใบโค้งมีระเบียบและห่าง  ในหนึ่งใบจะมีเส้นใบประมาณ  13  คู่

     ขณะที่ดอกกำลังตูมจะมีลักษณะคล้ายดอกบัวสีเขียวอ่อนปนเทาเล็กน้อย  ส่วนที่ติดกับก้านดอกจะมน  ปลายดอกแหลม  ก้านดอกกลมและสั้น  ตอนที่ติดกับดอกจะมีขนาดใหญ่แล้วเรียวไปหาปลิง

     เป็นพันธุ์เบา  อายุ  3 - 4  ปีก็เริ่มออกผล  ทรงผลเกือบจะกลมมีขนาดโตปานกลางจนถึงใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  12  เซนติเมตรยาวประมาณ  20  เซนติเมตร  น้ำหนักต่อผล  2 - 3  กิโลกรัม  มี  5  พู  ไม่ค่อยมีพูลวง  เมื่อแก่จัดผิวของผลจะมีสีเขียวอมน้ำตาลไหล่ของผลจะขยายใหญ่แล้วค่อยเรียวสู่ปลายผลซึ่งมีลักษณะมนหนามสีน้ำตาลอมเขียวและสั้นเป็นรูปเหลี่ยมเห็นได้ชัด  ที่ฐานจะเป็นรูปห้าหรือหกเหลี่ยม  ขั้วผลมีขนาดใหญ่  อ้วนสั้น  ยาวประมาณ  5  เซนติเมตร  เปลือกค่อนข้างหนาเล็กน้อยและเมื่อสุกเปลือกจะฉีกออกจากกันง่าย  เนื้อมีสีเหลืองอ่อนซีดคล้ายสีใบลาน  เนื้อแห้ง  รสหวานมัน  ยังไม่เคยพบลักษณะที่เรียกว่าเป็นทุเรียนแกร็น  คือมีเนื้อแข็งเป็นไตและไม่เคยพบลักษณะเนื้อแฉะ  เป็นเหงื่อ  ไส้ใหญ่และเหนียวทำให้ฉีกเปลือกลำบากในทุเรียนตระกูลนี้

     พันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลกำปั่นมีอยู่หลายพันธุ์  ส่วนใหญ่จะมีคำหน้าคำว่า  “กำปั่น”  และเช่น    กำปั่นขาว, กำปั่นตาแพ,   กำปั่นพวง,  กำปั่นเหลือง, กำปั่นแดง,  ดาวกระจาย, ชายมะไฟ  และ หมอนทอง

4.  ตระกูลทองย้อย  

       ทุเรียนในตระกูลนี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่คาดกันว่ามีปลูกกันมาเป็นเวลาช้านานประมาณ  100  ปี  มีลักษณะทรงพุ่มค่อนข้างกลมใหญ่และแข็งแรง  การแตกของกิ่งจะมีมากในช่วงตอนด้านบนของลำต้นแต่ไม่เป็นระเบียบ  กิ่งที่แตกออกมาจากลำต้นจะโน้มลงและปลายกิ่งงอขึ้น  ใบมีขนาดใหญ่กว่าตระกูลกบส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะค่อยๆ  เรียวแหลมลง  ฐานใบจะแหลมและโค้งไปจรดกันที่ฐานใบ

      ลักษณะดอกเป็นรูปทรงกลม  ตรงกลางป่อง  ปลายดอกจะค่อยๆ  เรียวแหลม  ก้านดอกยาวและใหญ่  ลักษณะผลโต  ทรงผลอ้วนป้อม  กลางผลป่องออก  บริเวณขั้วผลบุ๋มลงเล็กน้อย  บริเวณก้นผลย้อยออกมาไม่แหลมซึ่งมีลักษณะเด่น  ตรงจุดศูนย์กลางของก้นบุ๋มลงเป็นหลุมตื้นๆ  มีรอยร่องของเส้นพูมาบรรจบกันที่ศูนย์กลางเห็นได้ชัด    ขั้วมีขนาดใหญ่และสั้น  มีความยาวประมาณ  5  เซนติเมตร  รอยต่อระหว่างขั้วและปลิงโป่งออกเห็นได้ชัดเจน  หนามทั่วๆ  ไปมีขนาดใหญ่และสั้น  มีความยาวประมาณ  5  เซนติเมตร  รอยต่อระหว่างขั้วกับปลิงโป่งออกเห็นได้ชัดเจน  หนามทั่วๆ  ไปมีขนาดใหญ่ปานกลางมี  5 - 6  เหลี่ยม  กลางร่องพูมีหนามค่อนข้างใหญ่  ส่วนสันพูมีหนามค่อนข้างเล็กเรียวแหลมอยู่ชิดกันบริเวณก้นมีหนามสั้นและไม่แหลมอยู่ห่างๆ  กัน  เมื่อสุกผลจะมีสีเขียวอมเหลือง  บริเวณร่องพูจะมีสีเหลืองอ่อนปนเขียว  เส้นกลางพู  ผลหนึ่งมี  5  พู  พูขนาดไล่เลี่ยกัน  บางเมล็ดมีลักษณะแบบนเกือบลีบ  เมล็ดสีน้ำตาลแก่  ผิวเมล็ดเรียบ  ตรงสันมีรอยย่นเล็กน้อยเห็นเป็นสีน้ำตาลไหม้  มีเนื้อมาก  สีเหลืองมาก  กลิ่นไม่ฉุน  รสหวานปนมันมากและไม่หวานจัด

      ทุเรียนตระกูลทองย้อย  ได้แก่  พันธุ์ทองย้อยฉัตร,  ฉัตรสีทอง,  ฉัตรสีนาก,  ชมพูนุช และ พวงฉัตร  

5.  ตระกูลลวง  

       ทรงพุ่มโปร่งค่อนข้างกว้างและไม่สูงนัก  ลำต้นมักไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน  การแตกของกิ่งไม่ค่อยเป็นระเบียบ  บางต้นโคนเดียวอาจจะมีสองลำต้น  ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาวและมีขนาดใหญ่  ส่วนกว้างประมาณ  6.5  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  16  เซนติเมตร  ขอบใบเรียว  ฐานใบแหลมป้านปลายใบแหลม  แผ่นใบค่อนข้างราบแต่ไม่สม่ำเสมอ  คือจะเห็นรอยนูนทั่วไปบนผิวใบ  ด้านหลังใบ  ด้านท้องใบสีน้ำตาลอ่อนอมน้ำเงิน  หลังใบเขียวแก่เป็นมัน  รูปทรงของดอกค่อนข้างยาวหัวท้ายมน  โคนดอกจะป้านมากแล้วหักเกือบเป็นมุมฉากตอนใกล้ก้านดอกและก้านดอกจะเรียว  ผลค่อนข้างยาว  พูไม่สม่ำเสมอเบี้ยวงอเห็นพูชัดเจน  มักจะมีพูหลอก  หนามมีขนาดกลาง  ฐานหนามค่อนข้างใหญ่  ปลายหนามแหลม  ผลมีสีเขียวหรือน้ำตาล  ก้านผลมีขนาดยาวปานกลาง  เปลือกผลบาง  ในแต่ละพูมี  1-3  เมล็ด  เมล็ดขนาดเล็กหรือลีบ  เนื้อมีลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างหยาบสีเหลืองปานกลาง  รสหวานแหลมไม่มัน  กลิ่นฉุนเล็กน้อย

      ทุเรียนตระกูลลวง  ได้แก่พันธุ์ลวงเขียว,  ชะนี,  ย่ำมะหวาด,  ชมพูศรี,   แดงรัศมี  และ สายหยุด

6.  กลุ่มเบ็ดเตล็ด

       ทุเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีลักษณะไม่แน่ชัดบางลักษณะอาจเหมือนกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 5 กลุ่มแรก  ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่ผันแปรออกไป เช่นรูปร่างใบ  จะมีลักษณะป้อมกลางใบ  หรือรูปไข่ขอบขนาน ลักษณะของปลายใบ เป็น แหลมเรียว   ลักษณะทรงผลกระจายกันอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ กลมแป้น   กลมรี  และทรงกระบอก  หนามผลมีลักษณะเว้าปลายแหลม หรือนูนปลายแหลม 

        รายชื่อพันธุ์ทุเรียนที่จำแนกอยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด ได้แก่  กะเทยเนื้อขาว, กะเทยเนื้อแดง, กะเทยเนื้อเหลือง, กระดุมทอง, กระดุมสีนาค, กระปุกทองดี,  ก้อนทอง, จอกลอย และ ชายมังคุด ฯลฯ

 
Visitors: 449,948