โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี

   


     ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรีลดลงมาก เนื่องจากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 พ.ศ.2545 พ.ศ. 2549 และล่าสุดเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเดิมเสียหายเกือบทั้งหมด เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 43 ไร่ จากที่เคยมีทุเรียนมากกว่า 100 สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลือเพียง 50 กว่าสายพันธุ์เท่านั้น และเมื่อวิกฤตการณ์นั้นผ่านไป ทำให้ชาวสวนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีบางส่วนเลิกปลูกทุเรียน หันมาปลูกพืชที่ต้นทุนต่ำ และให้ผลผลิตรวดเร็วกันมากขึ้น อีกทั้งมีการขยายตัวของชุมชนเมือง มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายเส้นทาง อาจทำให้พื้นที่การปลูกทุเรียนลดลงอย่างรวดเร็ว องค์กรของภาครัฐ โรงงานยาสูบได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์สวนทุเรียนให้คงอยู่และขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น จึงให้การสนับสนุน ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์ จัดทำ “โครงการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี”ซึ่งเบื้องต้นได้ให้ทุนในการอนุรักษ์และขยายกิ่งพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน จำนวน 8,000 กิ่ง สนับสนุนการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี” โดยหวังให้เมืองนนทบุรีมีพื้นที่สำหรับศึกษาค้นคว้าเรื่องทุเรียนแบบครบวงจร


  เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โรงงานยาสูบได้จัดงานแถลงข่าวเปิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี ณ ห้อง Meeting Room 1-2  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติต์ ภายในงานได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ให้เกียรติเป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนมาให้ลองชิมมากมาย โดยได้ดาราชื่อดัง โบวี่  อัฐมา ชีวนิชพันธ มาร่วมเชิญท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชมนิทรรศการและเชิญชิมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนอีกด้วย

   ปิดท้ายด้วยการพูดคุยกับสมาชิกชมรมจากชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์ ในหัวข้อ “ร่วมอนุรักษ์ทุเรียนสายพันธุ์แท้แห่งเมืองนนท์กลุ่มสุดท้าย ก่อนจะสูญสายพันธุ์” โดยมีผู้ร่วมสนทนาหลักคือ  นายอดิสรณ์  ฉิมน้อย ผู้นำกลุ่มเกษตรกร พร้อมด้วยสมาชิกชมรมอีก 2 ท่านที่ ถือได้ว่าเป็นมือทองของการปลูกทุเรียน


 ภาพบรรยากาศ งานแถลงข่าวเปิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี           

          

 

 

Visitors: 449,938