ประวัติทุเรียนนนท์

     

      นนทบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย เป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนนทบุรี โดยห่างจากกรุงเทพมหานคร 20 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 622,303 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 388,939.37 ไร่ ปัจจุบันแยกออกได้เป็น 6 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง มีพื้นที่ 77.018 ตารางกิโลเมตร อำเภอปากเกร็ด มีพื้นที่ 89.023 ตารางกิโลเมตร อำเภอบางกรวย มีพื้นที่ 96.398 ตารางกิโลเมตร อำเภอบางบัวทอง มีพื้นที่ 116.439 ตารางกิโลเมตร อำเภอไทรน้อย มีพื้นที่ 186.017 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดนนทบุรี มีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งตะวันออกและตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีคูคลองทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากการขุดขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากเชื่อมติดกัน ลักษณะภูมมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูรอน แต่เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีความแตกต่างของระดับพื้นดินเพียงเล็กน้อย สภาพภูมิอากาศจึงมีลักษณะค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดพื้นที่ (สำนักงานส่งเสริมเกษตรจังหวัดนนทบุรี, 2549)

 

    จังหวัดนนทบุรีนับได้ว่าเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงแหล่งหนึ่งในการปลูกทุเรียนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดนนทบุรี ความว่า “พระตำหนัก สง่างาม ลือนาม สวนสมเด็จ เกาะเกร็ด แหล่งดินเผา วัดเก่า นามระบือ เลื่องลือ ทุเรียนนนท์ งามน่ายล ศูนย์ราชการ” ซึ่งแสดงถึงการเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของทุเรียนนนทบุรีในอดีตได้เป็นอย่างดี มีผู้สันนิษฐานว่า ได้มีการนำเอาทุเรียนเข้ามาแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศไทย ราวสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ ในราวปี พ.ศ. 2330 โดยพบหลักฐานจากเอกสารฐานเกษตรกรรม ระบุว่า ทุเรียนแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2330 จากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า และแพร่เข้ามาทางใต้ของประเทศไทย ต่อมาได้มีการนำเอาพันธุ์ทุเรียนต่างๆ เข้ามาปลูกเป็นสวนทุเรียนอย่างแพร่หลายในแถบธนบุรีตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาและขยายพื้นที่มาจนถึงจังหวัดนนทบุรี ทำให้ตลาดนนทบุรีในอดีตกลายเป็นแหล่งขายทุเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และเนื่องจากทุเรียนนนท์มีเนื้อละเอียดนุ่ม รสชาติ และความหลากหลายของสายพันธุ์ กล่าวกันว่า ดินในแถบนนทบุรี เป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารของพืชอย่างบริบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากดินในแถบอื่นๆ ที่มีการปลูกทุเรียน จึงทำให้เนื้อทุเรียนที่มาจากจังหวัดนนทบุรีละเอียด เนื้อหนาและรสดีมาก จึงทำให้ทุเรียนนนท์ มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด นำรายได้เข้าสู่ชุมชนและจังหวัดนนทบุรีปีละหลายร้อยล้านบาท (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี, 2542) 

ทุเรียน "ราชาแห่งผลไม้" ทุเรียนเป็นผลไม้เมืองร้อนที่เก่าแก่  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตอนใต้  เป็นผลไม้ที่มีความแปลกทั้งรูปร่าง  สี  และรสชาติมีผลเต็มไปด้วยหนาม  เนื้อสีขาวเหลืองหรือสีจำปาซึ่งน่ารับประทานเนื้อทุเรียนส่วนใหญ่จะใช้รับประทานสด  มีรสอร่อยมากเป็นผลไม้ที่มีราคาแพง    ชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้นและร่ำรวยเพราะปลูกทุเรียนก็มีมาก  นนทบุรีมีทุเรียนคุณภาพดีเมื่อคิดราคาต่อผลแล้วมีราคาแพงที่สุด  และยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ปลูกและมีทุเรียนดีเท่าประเทศไทย  ด้วยเหตุนี้  ทุเรียนจึงเป็นผลไม้อย่างหนึ่งที่เชิดหน้าชูตาของคนไทย

  

    ทุเรียนนนท์  ชื่อนี้เลื่องลือกันว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุด  รสชาติเป็นเลิศนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกัน   ทุเรียนนนท์หรือในอีกชื่อของคนนนท์”ทุเรียนใน”  เป็นทุเรียนที่ผู้คนให้ความนิยมกันมาตั้งแต่อดีต  จึงทำให้ราคาสูงหาซื้อยาก รับประทานก็ยากเช่นกัน  แต่ทุเรียนนนท์ได้หายไปจากความนิยมช่วงหนึ่ง     เนื่องจาก  มีมากมายที่เข้ามาแทนที่ไม่ว่าทุเรียนจากภาคตะวันออก  ภาคใต้  ล้วนแต่มีคุณภาพเกือบจะแทนที่ทุเรียนของนนทบุรีอยู่แล้ว  สาเหตุที่ทำให้ทุเรียนนั้นหายไปจากนนท์   มีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะน้ำท่วมปี พ.ศ.2538 และมหาอุทกภัย  ปีพ.ศ.2554  ที่สร้างความเสียหายจากพื้นที่ปลูก 3,475  ไร่เหลือเพียง43 ไร่ให้ผลผลิตแล้วเพียง 16 ไร่  จากพื้นที่ปลูกในทุกอำเภอ   ความเจริญของสังคมเมือง  การเกิดของหมู่บ้าน  การตัดถนนใหม่ๆหลายสาย     ทำให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป  น้ำเสียและ อากาศร้อนหรือปัญหาโลกร้อนด้วยก็ได้   หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม    ทำให้หลายคนคิดว่าทุเรียนนนท์หายไปแต่ในความเป็นจริง  สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญหลายคนไม่เคยนึกถึงนั้นคือ  การสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชาวสวนนนท์   สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสืบทอดขาดช่วงไปชาวสาวนนท์ส่วนใหญ่เป็นผู้อันมีจะกินหรือว่ารวยนั้นแหละ    เพราะทุเรียนมีราคาแพงก็ส่งลูกเรียนหนังสือจบกันสูงๆมากมาย  รับราชการ ตำรวจ ทหาร ทำงานกันมีหน้ามีตา  ตั้งแต่ข้าราชชั้นผู้น้อยถึงอธิบดี   ทำให้ไม่เคยหันกลับมามองอาชีพชาวสวนกันเลย  ไม่มีลูกหลานบ้านไหน    ที่จะคิดทำสวนเพราะเป็นงานหนักและลำบากทุกคนก็พูดกันเป็นอยู่คำเดียวว่า”ไม่มีเวลาทำสวน”พ่อแม่ก็เริ่มชราทำสวนก็ไม่ไหว  ทิ้งสวนทุเรียนให้ร้างไปโดยไม่มีใครเหลียวแลเลย     ทุเรียนที่ไม่ถูกน้ำท่วมหรือไม่โดนถนนตัดผ่านแต่ขาดการดูแลนั้นมากกว่า  นี้คือปัญญาสำคัญที่เห็นกันอยู่   

 

    เมื่อถามว่าภูมิปัญญาของคนนนท์นั้นสิ้นไปแล้วหรือ  ทั้งๆที่มาของพันธุ์ทุเรียนส่วนใหญ่เกิดจากนนทบุรีตั้งแต่  160  กว่าปีแล้ว  ทุเรียนเป็นผลไม้รสดี  ราคาแพง  มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  ต้นทุเรียนสามารถเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน   เกาะบอร์เนียว   เป็นศูนย์กลางความหลากหลายของพืชสกุลทุเรียนและแพร่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่  อินโดนีเซีย  บรูไน  ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย  และไทย 

    ทุเรียน มีพันธุ์ในสกุล  Durio  กว่า 28 ชนิด เป็นทุเรียนผลที่บริโภคได้ 7 ชนิดและ 21 ชนิด ไม่สามารถบริโภคได้ เฉพาะประเทศไทยพบกว่า 6 ชนิดคือ ทุเรียนนก ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า D.griffithii และ D.lowianus พบในจังหวัดยะลา ระนอง และตรัง พันธุ์ทุเรียนดอน ชื่อทางวิทยาศาสตรวา D.malaccensis พบในจังหวัดยะลา และนราธิวาส พันธุ์ทุุเรียนป่า ชื่อทางวิทยาศาสตรวา D.monsoni และ D.pinangianus พบในจังหวัดชุมพร ระยองและนราธิวาส  และพบพันธุทุเรียนปลูก ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์วา D.zibethinus อยู่ทั่วไปในทุกจังหวัด (Suranant Subhadrabandhu; & Saichol Kesta. 2001: 4-6) โดยพบวามีเพียงทุเรียนปลูก ซึ่งอยู่ในวงศ์ Bombacaceae  มีชื่อทางวิทยาศาสตร ว่า “Duria zibethinus Murr.” เทานั้นที่สามารถนํามาใชในการบริโภคได (สํานักงานเกษตรและสหกรณจังหวัดนนทบุรี. 2542) มีเพียงชนิดเดียว คือ ทุเรียนปลูก (Durio  zibethinus  Murray)ซึ่งอยู่ในวงศ์ Bombacaceae ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  และมีการปลูกเชิงการค้าอย่างแพร่หลาย  เรียกชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น  คือ  ทุเรียนในภาษาไทย และ ดูเรียน (durian) ในภาษามลายู  อินโดนีเซีย และภาษาอังกฤษ  ชื่อของทุเรียนในภาษาไทย มีรากศัพท์จากคำในภาษามลายู และอินโดนีเซีย ว่า “ดูเรียน” ซึ่งมาจากคำว่า “ดูริ”(duri) ที่แปลว่า “หนาม” และแปลงสำเนียงเป็น ทูลเรียน และ “ทุเรียน” ในที่สุด

สมัยกรุงศรีอยุธยา

          หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส  เมอร์ซิเออร์  เดอลาลูแบร์  เดินทางมาเจรจาการค้ากับไทย  ได้เขียนบันทึกสิ่งต่างๆที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย  โดยมีเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมของไทยตอนหนึ่ง  ได้ระบุเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า  “ดูเรียน (Durion)  ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion)  เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้  แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้  ผลมีขนาดเท่าผลแตง  มีหนามอยู่โดยรอบ  ดูๆไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน  มีเมล็ดมาก  แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่  ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน  ภายในยังมีอีกเมล็ดหนึ่ง  ถือกันว่ายิ่งมีเมล็ดในยิ่งน้อยยิ่งเป็นทูลเรียนดี  อย่างไรก็ตามในผลหนึ่งๆไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า 3 เมล็ดเลย”  จากหลักฐานดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่า  มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่จะเข้ามาจากที่ไหน  โดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน  แต่น่าเชื่อว่า  จะเข้ามาทางภาคใต้ของไทย

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

           พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น  สุนทรเวช)  ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายของพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช  มายังกรุงเทพฯ  ตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2318  และมีการทำสวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรี  ในตำบลบางกร่าง  ในคลองบางกอกน้อยตอนใน  ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2397   ในระยะแรกเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี  3 พันธุ์ คือ  อีบาตร  ทองสุก  และการะเกด

       การทำสวนทุเรียนนนทบุรีนั้นนิยมทำกันแบบยกร่องเพราะ  เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ลำคลอง   ในตอนบนที่ดินที่น้ำท่วมไม่ค่อยถึงก็นิยมทำนากันเป็นส่วนใหญ่  แต่หลังจากน้ำท่วมประเทศไทย ครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2485   ชาวสวนที่ทำสวนทุเรียน  ส้มเขียวหวานและ ละมุด ได้รับความเสียหายกันหมด  หลังจากน้ำท่วมก็เริ่มมีการปลูกทุเรียนกันอีกครั้งหนึ่ง  ทำให้ชาวสวนหันกลับมาเลือกปลูกทุเรียนพันธุ์ดีกันมากขึ้น จนทำให้กิ่งพันธุ์หายากจึงทำให้การปลูกทุเรียนในยุคนั้นมีการปลูกด้วยเมล็ดทำให้มีการกลายพันธุ์ได้พันธุ์ทั้งดีและไม่ดี   

      ลำต้น(stem)ทุเรียนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  6-24 นิ้ว ความสูงถึง30  เมตร  ทุเรียนอายุยืน 80-150 ปี   เปลือกแข็งสีเทาแก่เป็นสะเก็ดขรุขะจัดเป็นประเภทไม้เนื้ออ่อนมีลักษณะเหมือนไม้จามจุรี  ใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้โบราณใช้ทำฟื้นหุงต้มเท่านั้น  

      ใบ(Leaf)   ทุเรียนเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดใบกว้างแบบใบเลี้ยงเดียว  ขนาดของใบกว้าง 2-3 นิ้ว ยาว 6-8 นิ้วปลายใบมนแหลมเป็นแบบ Acuminate Apex   ไม่มีหูใบ  มีก้านใบสีน้ำตาลยาวประมาณ 1 นิ้วแบ่งออกเป็น 2 ตอน ประมาณครึ่งหนึ่งของก้านใบที่ต่อจากใบจะโตกว่าและเรียวเล็กไปจนถึงโคนก้านตอนที่ติดกับกิ่ง  บนใบสีเขียวแก่ถึงเขียวเข้มเป็นมัน  ใต้ใบเป็นสีน้ำตาล เส้นใบทุเรียนสานกัน เป็นร่างแห  ลักษณะการติดใบแบบ Alternate  Leaver   

      รากทุเรียนเป็นพันธุ์ไม้ที่มีรากหาอาหารกันตามผิวดินจนถึงระดับ 50 เซนติเมตร มีรากพิเศษที่เกิดจากบริเวณโคนต้นอยู่มากมายตามผิวดิน  แตกออกมาลักษณะตีนตะขาบเรียกว่า”รากตะขาบ”  รากแก้วของทุเรียนทำหน้าที่ยึดลำต้น  ทุเรียนนนท์ส่วนใหญ่  ไม่มีรากแก้วเพราะปลูกจากกิ่งตอน  แต่จะมีรากพิเศษแทนหรือรากแขนงที่แตกจากรากพิเศษที่หยั่งลึกลงไปในดินทำหน้าที่คล้ายรากแก้วและสามารถหยั่งลึกไปถึงระดับน้ำใต้ดินได้  มีรากฝอยเป็นรากหาอาหารออกมาจากรากพิเศษที่ทำหน้าที่ดูดอาหารด้วย

      ดอก(Flower)  มีลักษณะคล้ายระฆัง มีส่วนของดอกครบถ้วนและเป็นดอกสมบูรณ์(Perfect flower)หมายถึงว่ามีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดี่ยวกัน   มีรังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นของดอกแต่ละดอกประกอบด้วย กลีบเลี้ยงอยู่ชั้นนอกสุดมีสีเขียวอมน้ำตาล  หุ้มดอกไว้มิดชิดโดยไม่มีการแบ่งกลีบแต่เมื่อดอกใกล้แย้มจึงแยกออกเป็นสองหรือสามกลีบ  กลีบรองลักษณะคล้ายหม้อตาลโตนดอยู่ถัดเข้าไปจากกลีบเลี้ยง กลีบดอกสีขาวนวลมี 5กลีบ เกสรตัวผู้มี 5 ชุด ประกอบด้วยก้านเกสร5-8 อัน ทุเรียนมักออกดอกเป็นช่อๆหนึ่งมีตั้งแต่1-30 ดอก   ดอกมักอยู่รวมกันเป็นพวงๆมี 1-8 ดอก

      ผลของทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  10-20 เซนติเมตรความยาวอยู่ที่ลักษณะของทุเรียน โดยปกติทุเรียนนนท์จะมี 5 พลูต่อผล   เนื้อของทุเรียนมีความสำคัญมากจากความสมบูรณ์ของแต่ละสวน ธาตุอาหารในดินการสะสมอาหารของทุเรียนในแต่ละสวน บ้างสีเหลือง  สีจำปาหรือเนื้อสีเหลืองอ่อน  ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและพันธุ์ของทุเรียนด้วยเช่นกัน

ทุเรียนนนท์ไม่เหมือนทุเรียนจังหวัดอื่นๆเพราะนนทบุรี  มีการปลูกทุเรียนที่มาตั้งแต่โบราณตามคำบอกเล่า  เดิมพื้นที่เป็นป่าดิบชื้นลุ่มแม่น้ำพื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวอุ้มน้ำทำให้ดินได้สะสมธาตุอาหารที่พืชต้องการไว้ในดินบวกกับภูมิปัญญาของชาวสวนที่มีการถ่ายทอดการทำสวนเทคนิคต่างๆ  การทำสวนแบบเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่กล่าวขานกันในยุโรปหรืออเมริกาแต่บรรพบุรุษของชาวนนท์ได้ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว  การเกิดของทุเรียนนนท์ในอดีตเท่าที่ฟังปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่า”เกิดมาก็เห็นเมืองนนท์มีทุเรียนเป็นร้อยพันธุ์แล้ว”     แต่ละท้องถิ่นก็เรียกชื่อต่างกันเช่น        เรียกตามลักษณะผลตามลักษณะของแม่พันธุ์บ้าง  สถานที่เกิดของพันธุ์  ชื่อเดิมผสมกับผู้เพาะ  จากการศึกษาพบว่ามีพันธุ์ทุเรียนที่เกิดในนนทบุรีมากกว่า 200  พันธุ์   แต่ในปัจจุบันเหลือไม่กี่พันธุ์   ในการปลูกทุเรียนหลังจากน้ำท่วม พ.ศ.2538   มีการปลูกทุเรียนเพียงสามพันธุ์เช่น หมอนทอง   ก้านยาว  ชะนี  เป็นส่วนใหญ่     เป็นทุเรียนที่มีผลทางเศรษฐกิจ  ราคาดี เก็บรักษาง่ายและที่สำคัญขายก็คล่อง....

  

ภาพประกอบจาก...พินิจนคร (Season3) ตอน นนทบุรี https://www.youtube.com/watch?v=4ZkriWin8uQ  

   

 


  • 87057-tile.jpg
    คู่มือการปฏิบัติงานสวนทุเรียนนนท์ การสวนทุเรียนนนท์นั้นการดูแลสวนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโต และให้ ผลผลิตที่ดีและต้นทุเรียนมีอายุยืนยาว ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุ...

  • DSCF2728-horz.jpg
    การดูแลรักษาทุเรียนปลูกใหม่ ชาวสวนทำกันอย่างไร........เรื่องที่ต้องดูแลหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ (1)การรดน้ำ (2) การบังร่ม (3) การใส่ปุ๋ย และ(4) การกำจัดวัชพืช ขอสรุปวิธีปลูกคร่าวๆ ดัง...

  • 13.jpg
    ขั้นตอนการผลิตต้นทุเรียน 1. เพาะเมล็ดพันธุ์ทุเรียน เพื่อเตรียมเสียบยอด ซึ่งเมล็ดทุเรียนที่เราใช้คือ เมล็ดทุเรียนป่าจากปัตตานีซึ่งข้อดีของการใช้ตอทุเรียนป่า คือ รากของทุเรียนป่าจะหา...

  • qe.jpg
    โรคและอาการผิดปกติของทุเรียน อาการผิดปกติบางประการของเนื้อทุเรียน 1.ทุเรียนไส้ซึม เกิดจากการที่ทุเรียนได้รับน้ำมากเกินไปในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผล ทำให้ไส้หรือแกนของผลทุเรียนแฉะแล...

  • open.jpg
    ประโยชน์ของทุเรียน... สรรพคุณทางยาของ...ทุเรียน เนื้อทุเรียน : เนื้อทุเรียนมีกำมะถันเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ร้อน โดยความร้อนนี้จะช่วยแก้โรคผิวหนังได้ ทำให้ฝีหนองแห้งเร็ว และมีฤทธิ์...

  • DSCF8237-vert.jpg
    ในสวนทุเรียนของจังหวัดนนทบุรีนั้น นอกจากจะมีต้นทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์แล้ว ชาวสวนยังนิยมปลูกต้นไม้อื่นๆร่วมกับต้นทุเรียน เพื่อเป็นรายได้เสริมและสร้างระบบนิเวศที่สมดุลในสวนหรือ ...

  • gr.jpg
    ในสมัยแรกๆ ทุเรียนสายพันธุ์ดีมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ แต่ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง จึงทำให้ต้นทุเรียนตายและสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากกิ่งตอนหายากและมีร...

  • du2.jpg
    กบแม่เฒ่า (Kop Maethao) ชื่อพันธุ์ : กบแม่เฒ่า ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibthinus Murray ประวัติ : ทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า เป็นพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดของทุเรียนพันธุ์การะเกด...

  • kanyaopic8-horz.jpg
    การตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียน 1. ตั้งชื่อตามลักษณะผลภายนอกของผล คือ พิจารณาลักษณะทรงผล หากรูปร่างคล้ายกับตัวกบก็ให้ใช้ชื่อ พันธุ์กบหรือหากมีก้านผลที่มีความยาวเป็นพิเศษกว่าพันธุ์อื่นก...

  • DSCN0045.JPG
    อภิธานศัพท์ชาวสวนทุเรียนแห่งนนทบุรี ข้อมูลนี้มาจาก หนังสือ "อภิธานศัพท์ชาวสวนทุเรียนแห่งนนทบุรี" ซึ่งเป็นการรวบรวมคำศัพท์เฉพาะที่ชาวสวนใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ในสวนและใช้สื่อสารในแวดวง...

  • ดอกทุเรียน สวนตาก้าน.jpg
    ระยะของดอกทุเรียนแบ่งออกเป็น 5 ระยะ 1)ระยะตีนหนู = “ระยะแรกของดอกทุเรียน หลังจากเปิดตาดอกออกมา" เรียก"ตีนหนู" เนื่องจาก ช่อดอกเล็กๆ นี้มีลักษณะคล้ายตีนของหนู และเมื่อช่อดอกเหยียดออ...

  • all food edit.jpg
    เมนูทุเรียน -เนื้อทุเรียน :นำมาทำเป็นอาหารได้ทั้งคาวและหวานนำมาแปรรูปเป็นขนมหวานได้หลายชนิด เช่น ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมปังสอดไส้, ไอศกรีม, มิลก์เช็ก,เค้ก, คาปูชิโน, ข้าวเหนียวทุเรีย...

  • คู่มือการปฏิบัติงานสวนทุเรียน ปากช่อง ในช่วงระยะ 1-5 ปีแรก การดูแลรักษาต้นทุเรียนในแต่ละภาคนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกับออกไป เนื่องจากความแตกต่างในปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ ลักษณะดิน...

  • รายละเอียด "เม็ดในยายปราง" เพิ่มเติม (คลิ๊ก) รายละเอียด"กบทองคำ"เพิ่มเติม (คลิ๊ก) รายละเอียด"กบชายน้ำ"เพิ่มเติม (คลิ๊ก) รายละเอียด"กบพิกุล"เพิ่มเติม (คลิ๊ก) รายละเอียด"กบตา...
Visitors: 449,937