Issue2 :เด็กเสดทำสวน...วิเคราะห์ตลาดทุเรียนนนท์

เด็กเสดทำสวน...วิเคราะห์ตลาดทุเรียนนนท์ 

          ตลาดการซื้อ-ขายทุเรียนของชาวสวนจังหวัดนนทบุรี (ทุเรียนนนท์) นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกับตลาดการซื้อ-ขายสินค้าเกษตรประเภทอื่นค่อนข้างมาก กล่าวคือ การซื้อ-ขายสินค้าเกษตรส่วนใหญ่นั้นอาศัยพ่อค้าคนกลางเพื่อนำสินค้าไปจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในสถานที่ต่างๆ เนื่องจากเกษตรกรอาจไม่มีความชำนาญในเรื่องการซื้อ-ขาย และรู้จักวิธีการทำการตลาด (Marketing) มากพอ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เพียงผลิตสินค้าเกษตรเท่านั้น ส่วนราคาที่ได้รับก็คือราคาที่พ่อค้าคนกลางเสนอให้สำหรับการซื้อขายหนึ่งๆเท่านั้น มิได้เป็นราคาที่ซื้อขายกันในตลาดอย่างแท้จริง (ราคาที่กำหนดมาจากดุลยภาพของ Demand และ Supply  ในตลาด ) โดยเกษตรกรเป็นผู้รับราคาตลาด( Price Taker) ตรงนี้ขอมองว่าราคาที่เกษตรกรได้คือราคาที่ได้จากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นพ่อค้าคนน่าจะรู้ราคาตลาดซึ่งราคานี้ควรเท่ากับ ราคาที่เกษตรกรได้รับ + กำไรของพ่อค้าคนกลาง แต่ตลาดของทุเรียนนนท์นั้นกลับตรงกันข้ามกับกรณีที่กล่าวมา เนื่องจากชาวสวนมีอำนาจในการกำหนดราคาทุเรียนของตนเองค่อนข้างมาก ( Price Maker)  เนื่องจาก ตลาดการซื้อ-ขายของทุเรียนนนท์มีรูปแบบการขายที่ต่างจากที่อื่น  คือ ไม่มีการนำไปขายแข่งขันกับทุเรียนจากที่อื่น (Product Differentiation) ส่วนใหญ่การซื้อขายจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ตลาดในจังหวัดนนทบุรีเท่านั้น โดยมีลักษณะการขาย 2 รูปแบบคือ (1) ผ่านการขายจากสวนโดยตรง และ (2) ผ่านการขายในงานทุเรียนที่จัดขึ้น

 

 

การขายจากสวนโดยตรง : รูปแบบการผูกขาด (Monopoly Market)

           การขายจากสวนโดยตรง เป็นลักษณะของการที่ผู้บริโภคจะต้องเดินทางมาที่สวนด้วยตนเองเพื่อซื้อทุเรียนกลับไป โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อผ่านสวนโดยตรงนั้น มักเป็นลูกค้าที่เคยซื้อขายกันมานาน มีความคุ้นเคยกันดี และซื้อในปริมาณที่ค่อนข้างมาก  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันระหว่างชาวสวนและผู้ซื้อ ลักษณะการขายผ่านสวนโดยตรงเช่นนี้ทำให้ชาวสวนมีอำนาจในการตั้งราคาที่มากขึ้น โดยสามารถอธิบายเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ได้ดังนี้ 

 

                                       

 

        หากเปรียบการซื้อขายทุเรียนนนท์เป็นตลาดผูกขาดแล้ว สามารถอธิบายได้ว่าปริมาณการผลิตที่ทำให้ผู้ผลิต (ชาวสวน) ได้รับกำไรสูงสุดจะอยู่ที่จุดที่รายรับส่วนเพิ่ม (Marginal Revenue) เท่ากับรายจ่ายส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) เนื่องจากการผลิตในปริมาณที่ต่ำกว่านี้จะทำให้ MR > MC นั่นคือการเพิ่มปริมาณการผลิตจะทำให้ผู้ผลิตมีรายรับที่เพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในทางกลับกันปริมาณการผลิตที่มากกว่าจะทำให้ MR < MC นั่นคือผู้ผลิตจะมีรายรับที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในตลาดสมบูรณ์นั้นผู้ผลิตไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า โดยที่ราคาสินค้าจะขึ้นอยู่กับดุลยภาพของตลาดที่ถูกกำหนดโดย Demand และ Supply ของตลาดจากภาพปริมาณการผลิตในตลาดแข่งขันสมบูรณ์จึงอยู่ที่จุด A ซึ่งเป็นจุดที่ MR = MC ที่จุด A มีปริมาณการผลิตที่เท่ากับ Q หน่วย และราคาเท่ากับ P บาท โดยที่จุด A คือจุดที่เป็นดุลยภาพทั่วไปของทุเรียนสายพันธ์อื่นซึ่งแตกต่างกับทุเรียนนนท์ที่ลักษณะโครงสร้างทางการตลาดไม่ได้เป็นแบบการแข่งขันสมบูรณ์แต่เป็นชาวสวนในแต่ละสวนต่างมีอำนาจผูกขาดในกลุ่มของลูกค้าของตัวเองดังนั้นจุดดุลยภาพของการผลิตทุเรียนนนท์จึงอยู่ที่จุด B ซึ่งเป็นจุดที่ MR = MC ในตลาดผูกขาดโดยที่ปริมาณการผลิตจะเท่ากับ Q’ หน่วยและจะตั้งราคาสินค้าต่างเส้น Demand ที่เป็นตัวสะท้อนถึง Willingness to pay โดยราคาจะอยู่ที่ P’ ซึ่งอยู่สูงกว่า P นั่นคือ ด้วยรูปแบบการขายแบบขายผ่านสวนโดยตรงทำให้ทุเรียนเมืองนนท์มีราคาแพงขึ้นได้

        นอกจากเหตุผลเรื่องโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนเป็นตลาดผูกขาดแล้วอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวสวนสามารถขายทุเรียนได้แพงขึ้นคือ เรื่องของความยืดหยุ่น กล่าวคือ กลุ่มลูกค้าที่มาซื้อผ่านสวนโดยตรงจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะค่อนข้างดีถึงดีมาก บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเจ้าของร้านทอง เป็นรัฐมนตรี เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเทียบสัดส่วนของรายจ่ายของทุเรียนเมืองนนท์กับรายได้ของกลุ่มคนเหล่านี้จะพบว่ามีเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย นั่นคือ ความยืดหยุ่นต่อรายได้มีค่าค่อนข้างน้อยเมื่อใช้ทฤษฎี Homogeneity ที่กล่าวว่า ค่าความยืดหยุ่นต่อราคา + ค่าความยืดหยุ่นไขว้ + ค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ จะต้องมีค่าเท่ากับ 0 ดังนั้นการที่ค่าความยืดหยุ่นของปริมาณความต้องการซื้อทุเรียนนนท์ต่อรายได้มีค่าน้อยแล้วจึงทำให้ค่าความยืดหยุ่นของปริมาณความต้องการซื้อทุเรียนนนท์ต่อราคามีค่าน้อยตามไปด้วย นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของราคาจะทำให้ปริมาณการซื้อทุเรียนเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ชาวสวนจึงสามารถตั้งราคาเพิ่มขึ้นได้เพราะปริมาณที่ขายได้ไม่ได้ลดลงมากทำให้ชาวสวนได้รายรับมากขึ้นด้วย

 

 

การขายผ่านงานทุเรียนที่จัดขึ้น  : ตลาดผู้ขายน้อยราย 

         ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี  จังหวัดนนทบุรีจะมีการจัดงานทุเรียนนนทบุรีประจำปี โดยมีศูนย์การค้าห้างเซ็นทรัล สาขารัตนาธิเบศร์ให้การส่งเสริมและสนับสนุนสถานที่จัดงาน  อีกทั้ง วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จะจัดงานทุเรียนนนท์ และงานไหว้พระ 9 วัดที่เกาะเกร็ด ในงานดังกล่าวนี้จะมีลักษณะของตลาดที่เป็นตลาดผู้ขายน้อยราย กล่าวคือ ภายในตลาดนี้มีผู้ขายสินค้าจำนวนน้อยราย เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดทุเรียนจังหวัดอื่นหรือผลไม้ชนิดอื่น โดยผู้ขายจะมีทั้งที่เป็นชาวสวนเองหรือผู้ค้าปลีก(Retailer)  ซึ่งตลาดผู้ขายน้อยรายที่กล่าวถึงนี้จะเป็นตลาดผู้ขายน้อยรายประเภทที่ผู้ขายแต่ละรายมีสินค้าลักษณะแตกต่างกัน (Differentiated Oligopoly)  โดยในทัศนะของผู้ขายมองว่าทุเรียนนนท์แต่ละลูกมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงตั้งราคาโดยคำนึงถึงตระกูลสายพันธุ์และขนาดของผล ความยากง่ายในการดูแล ความสุกหรือห่ามของเนื้อ ความสวยงามของผล และราคาตลาดในขณะนั้น ส่วนในทัศนะของผู้บริโภคก็มองว่าทุเรียนแต่ละลูกหรือแต่ละสายพันธุ์ มีความแตกต่างกันแต่ก็สามารถทดแทนกันได้เกือบสมบูรณ์ ดังนั้นแม้ผู้ขายรายหนึ่งเพิ่มราคาทุเรียนของเขาให้สูงกว่าคู่แข่งขัน ผู้ขายรายนี้จะไม่สูญเสียปริมาณลูกค้าทั้งหมด เพราะอาจมีผู้ซื้อเดิมบางคนยังพอใจหรือติดใจในทุเรียนของเขาอยู่จึงยินดีที่จะซื้อสินค้านั้นตามราคาที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้ซื้อบางคนอาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของคู่แข่งขัน เส้นอุปสงค์ตลาดซึ่งแสดงถึงปริมาณสินค้าทั้งหมดของอุตสาหกรรม(ปริมาณทุเรียนนนท์ทั้งหมดของจังหวัดนนทบุรี) กำหนดขึ้นได้ เนื่องจากแต่ละหน่วยผลิตในตลาด(อุตสาหกรรม) ผลิตสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกันจากหน่วยผลิตอื่นๆ ชาวสวนเป็นผู้กำหนดราคาเองและมีลูกค้าประจำ ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละรายจะมีเส้นอุปสงค์เป็นของตนเองซึ่งแตกต่างจากเส้นอุปสงค์ของผู้ขายรายอื่น และจำนวนขายของสินค้าผู้ขายรายหนึ่งจะเป็นฟังก์ชั่นของราคาสินค้าของเขา 

 

                                       

 

       เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ผลิตทุเรียนนนท์ตามทฤษฎีของตลาดผู้ขายน้อยราย จะตรงกับกรณีที่ผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่มีการรวมหัวกัน (Non-collusive Oligopoly) แต่ไม่สามารถวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองผู้ขายสองรายของ Cournot (Cournot's Duopoly Model)  ได้ เนื่องจาก  ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดปริมาณการผลิตได้ด้วยตนเอง เนื่องจากปริมาณผลผลิตทุเรียนนนท์ในแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับสภาพดิน ฟ้า อากาศ และความสมบูรณ์ของต้น  อีกทั้งปริมาณการผลิตยังเต็มกำลังการผลิตแล้ว (Full capacity )  ดังนั้นการกำหนดพฤติกรรมการผลิตและการตั้งราคาตอบโต้กันจึงไม่พบในตลาดทุเรียนนนท์โดยทั่วไป  

          นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ด้านราคา ทุเรียนที่ขายในงานทุเรียนประจำปีจะมีแนวโน้มราคาสูงกว่าทุเรียนที่ขายจากสวน เนื่องจาก กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับทุเรียนนนท์ค่อนข้างน้อยหรือไม่มีความรู้เลย (Information Bias or Asymmetric Information) ไม่ทราบว่าทุเรียนนนท์มีลักษณะ รสชาติ ต่างจากทุเรียนที่อื่นอย่างไร ทั้งนี้การจัดงานทุเรียนมีการจัดประเภทคุณภาพสินค้า (จัดเกรด) โดยเกรดที่คุณภาพดีกว่าจะถูกขายในราคาที่สูงกว่า ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียดังนี้ มีข้อดีที่สามารถช่วยลด Transaction Costs ของผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องไปหาข้อมูลด้วยตนเอง ว่าสินค้าแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร และจะเลือกซื้ออย่างไร ทั้งนี้ก็มีข้อเสียเช่นกันเนื่องจากผู้ซื้อ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนที่ครบถ้วน (Asymmetric Information) ส่งผลให้เกิดการสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ผิดๆ และอาจรวมไปถึงอาจถูกหลอกลวงได้

       ลักษณะตลาดที่กล่าวมานี้ เป็นการมองในมุมเศรษฐศาสตร์  โดยนำหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาประยุกต์เข้ากับการขายทุเรียนนนท์ในอดีต(ช่วงก่อนอุทกภัยปี 54) ซึ่งการลักษณะการขายที่กล่าวมานี้ ทำให้คนอยากหันมาปลูกทุเรียนนนท์กันมากขึ้น เนื่องจาก ตลาดทุเรียนนนท์ไม่ได้เป็นตลาดผูกขาดโดยสมบูรณ์และมีกำไรส่วนเกินเหลืออยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามอุปสรรคของการเข้าตลาดก็มีมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งต้นทุงคงที่และต้นทุนแปรผัน  สภาพอากาศที่ร้อนจัด ภาวะน้ำเค็ม(น้ำทะเลหนุน)ที่มีแนวโน้มว่าจะกินเวลานานขึ้นทุกปี อีกทั้งความเจริญของหมู่บ้านจัดสรรที่รายล้อมสวนทุเรียนอยู่ในขณะนี้  ดังนั้น  ต่อจากนี้ไปการปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีจึงเป็นเรื่องท้าทาย  และการปรับตัวด้าน SUPPLY ที่เกิดขึ้นอาจสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุเรียนนนท์ในอนาคต  

 

           ในวันนี้จึงเกิดคำถามที่ว่า  อีก 10 ปีข้างหน้า...พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีจะมีกี่ไร่?.... ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ? ....ราคาจะยังสูงเหมือนเดิมหรือไม่? ....ตลาดทุเรียนนนท์ในอนาคต จะเป็นอย่างไร?......ทุกคำตอบนั้นดังอยู่ในอนาคตที่ยังไปไม่ถึง  สำหรับผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจให้ชาวสวนทุกคนสู้ให้เต็มที่ ปลูกทุเรียนต่อไป ปลูกทุเรียนให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจและทำให้พวกเค้ารักสวนอย่างที่คุณรัก...

 

 

 

อ้างอิง

 

ชยันต์ ตันติวัสดาการ. (2550). “ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดและตลาดผู้ขายน้อยราย.”     

 

เศรษฐศาสตร์จุลภาค : ทฤษฎีและการประยุกต์.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รายงาน วิชา EC 492  การตลาดสินค้าเกษตร : ราคา และนโยบาย เรื่อง “ทุเรียนนนท์ผลไม้ 1 สลึง” 

 

Visitors: 449,974