วิธีการบำรุงรักษา
คู่มือการปฏิบัติงานสวนทุเรียนนนท์
การสวนทุเรียนนนท์นั้นการดูแลสวนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโต และให้ ผลผลิตที่ดีและต้นทุเรียนมีอายุยืนยาว ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำสวนก็คือทุเรียนให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพและขายได้ราคาดี และในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต ในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเพื่อเสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น กล้วยหอม ส้มเขียวหวาน หรือมังคุด การปฏิบัติดูแลสวนทุเรียนนนท์ในช่วงให้ผลผลิตแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนออกดอกติดผลมาก และให้ผลผลิต คุณภาพดี
การเตรียมให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ มีอาหารสะสมเพียงพอ เมื่อทุเรียนมีใบแก่ทั้งต้น และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฝนแล้ง ดิน มีความชื้นต่ำ อากาศเย็นลงเล็กน้อยทุเรียนก็จะออกดอก ขั้นตอนต่าง ๆ จะต้องรีบดำเนินการภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้
ระยะที่ 1 ฟื้นฟูต้นหลังเก็บเกี่ยวทุเรียน ช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน
1.การตัดแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวให้รีบตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งแขนง ด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัด เชื้อรา หรือปูนแดงกินกับหมาก
2.กำจัดวัชพืชเก็บทำความสะอาดท้องร่อง สาดเลน เพื่อเป็นปุ๋ยทางธรรมชาติให้แก่ทุเรียน
3. เมื่อขี้เลนแห้งสนิทแล้วควรใส่ปุ๋ยทันที
- ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)
ทุเรียนต้นที่ขาดความสมบูรณ์ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนต้น ที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ทุเรียนต้นที่ให้ผลผลิตไปมาก ต้องการปุ๋ย มากกว่าทุเรียนที่ให้ผลผลิตน้อย
4.การกำจัดวัชพืชการป้องกันวัชพืชในสวนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวน โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งมีรากหาอาหารอยู่ในระดับผิวดิน ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรังนอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาสวนทุเรียนให้ปราศจากวัชพืชต่างๆ ได้ ซึ่งต้องทำการตัดหรือถากถางออกเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในแปลงที่เป็นที่ดอนอย่างน้อยต้องทำการเก็บวัชพืชปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง คือ กลางฤดูฝนขณะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกรกฎาคม และปลายฤดูฝน หลังจากหมดฤดูฝนแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ซึ่งวัชพืชที่ถากถางออกนี้เมื่อแห้งตายก็จะกวาดเข้าคลุมต้นทุเรียนที่ปลูกได้อีก
การป้องกันกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชคลุมหรือพืชแซม เช่น กล้วย หรือพืชคลุมชนิดต่างๆ พืชเหล่านี้จะช่วยคลุมไม่ให้วัชพืชเจริญงอกงามได้เร็ว โดยเฉพาะพืชคลุมจะคลุมจนวัชพืชตายหมด พืชคลุมเหล่านี้จะขึ้นคลุมปิดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดินทำให้ดินไม่ร้อนจัดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ การสูญเสียหน้าดินจากน้ำฝนน้อยลง
5. ป้องกันกำจัดโรคแมลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่า เพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงและเพลี้ยไฟ หนอนกินเปลือกต้นทุเรียน เริ่มระบาดในฤดูฝนควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ระยะที่ 2 ในช่วงปลายฤดูฝน ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
เมื่อฝนทิ้งช่วงเกษตรกรต้องให้ความสนใจในการเข้าดูแลสวนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมในการให้ทุเรียนออกดอก ฤดูฝนผ่านไปทุเรียนมีความสมบูรณ์เต็มทีพร้อมที่จะออกดอกให้ผลผลิตแก่เกษตรกรชาวสวน การเริ่มต้นฤดูก็เกิดขึ้นสิ่งที่จะต้องทำดังนี้
1.ให้กำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม กวาดเศษหญ้า และใบทุเรียน ออกจากโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น
2.ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นละ 15-30 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อช่วยกระตุ้นในการออกดอก
3.กักน้ำในท้องร่องสวนให้น้อย อยู่ในระดับต่ำและงดการรดน้ำ10-14วันเมื่อสังเกตเห็นใบทุเรียนเริ่ม สลดลงต้องเริ่มรดน้ำทีละน้อยเพื่อกระตุ้นให้ตาดอกเจริญ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานจนใบเหลืองใบตกเพราะตาดอกจะไม่เจริญ และระวัง อย่ารดน้ำมากเกินไป เพราะช่อดอกอาจเปลี่ยนเป็นใบได้ วิธีการรดน้ำที่เหมาะสม คือ รดน้ำแบบโชย ๆ แล้วเว้นระยะ สังเกต อาการของใบและดอก เมื่อเห็นดอกระยะไข่ปลามากพอแล้ว ก็เพิ่ม ปริมาณให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนสู่สภาวะปกติ
ระยะที่ 3 การดูแลในช่วงออกดอก ช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธุ์
1. การควบคุมการรดน้ำ เมื่อทุเรียนออกดอกในระยะไข่ปลามีปริมาณมากพอแล้ว ก็เริ่มรดน้ำมากขึ้นจนสู่สภาพปกติ ในระยะก่อนดอกบาน 7-10 วัน(ระยะหัวกำไล) ไป จนถึงดอกบานช่วงดอกบานควรงดการรดและระยะปิ่นให้ลดการรดน้ำลง 2 ใน 3 ของปกติและเริ่มรดน้ำมากขึ้นในระดับปกติได้หลังจากผสมเกสรแล้ว 3 สัปดาห์
2. การตัดแต่งดอก เพื่อให้เหลือดอกทุเรียนไว้ในปริมาณและตำแหน่งที่เหมาะสม ตัดดอกที่อยู่ตามกิ่งเล็ก ๆ หรือปลายกิ่งทิ้ง ควรตัดแต่งเมื่อดอกทุเรียนอยู่ในระหว่างระยะมะเขือพวง ถึงระยะหัวกำไล ถ้ามีดอกรุ่นเดียวกันปริมาณมาก ตัดแต่งให้เหลือปริมาณ ดอกพอเหมาะอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ถ้ามีดอก 2 รุ่น ปริมาณต่างกัน ให้ตัดรุ่นที่มีปริมาณ ดอกน้อยออก แต่ถ้าปริมาณดอกมีน้อย จำเป็นต้องไว้ดอกต่างรุ่นควรไว้ดอกรุ่นเดียวกัน บนกิ่งเดียวกัน
3. ป้องกันกำจัดโรคแมลง เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง หนอน กัดกินก้านดอก โรคดอกเน่าและโรคดอกแห้ง
ระยะที่ 4 การดูแลในช่วงติดผลแล้ว มีนาคม- เมษายน
1. ตัดแต่งผลครั้งที่ 1 หลังดอกบาน 3-4 สัปดาห์ ตัดแต่งผลที่มีรูปทรง บิดเบี้ยว ผลขนาดเล็กหรือผลต่างรุ่น ผลที่อยู่ใน ตำแหน่งไม่เหมาะสม เช่น ปลายกิ่ง ด้านข้างของ กิ่ง และผลที่ติดเป็นกระจุกใหญ่ ๆ ออกเหลือผล ที่ดีไว้มากกว่าที่ต้องการจริง 50 %ครั้งที่ 2 หลังดอกบาน 6-8
สัปดาห์ ตัดผลที่มีขนาดเล็กกว่า ผลอื่นในรุ่นเดียวกัน ผลบิดเบี้ยว ผลที่มีอาการ หนามแดงครั้งที่ 3 ตัดแต่งครั้งสุดท้ายตัดผลขนาดเล็ก ผลบิดเบี้ยว ผลก้นจีบออก จะเหลือผลที่มีขนาดและรูปทรง สม่ำเสมอ ในปริมาณเท่ากับที่ต้องการจริง เมื่อตัดแต่งผลครั้งสุดท้ายเสร็จ ควรโยงกิ่งหรือใช้ไม้ไผ่ค้ำ เพื่อป้องกันกิ่ง หักจากน้ำหนักผลที่มากขึ้น ป้องกันผลร่วงในพื้นที่มีลมแรง
2. การใส่ปุ๋ย หลังจากติดผลแล้ว 5-6 สัปดาห์ ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเร่งการเจริญของผล เพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ ถ้าต้นทุเรียนขาดความสมบูรณ์ ใบเล็ก ใบซีด ไม่เขียวเข้ม ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริมในช่วงสัปดาห์ที่ 5-10 หลังดอกบาน เพื่อช่วยให้ผลทุเรียนเจริญดีขึ้น
3. การควบคุมไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนถ้าทุเรียนแตกใบอ่อนในช่วงติดผล ใบอ่อนและผทุเรียน จะแย่งอาหารกันและเกิดผลเสีย ผลอ่อนร่วง รูปทรงลูกบิดเบี้ยว เนื้อคุณภาพ ด้อยเป็นเต่าเผา เนื้อแกน ถ้าพบว่าทุเรียนจะแตกใบอ่อน โดยสังเกตเห็นเยื่อหุ้มตา เริ่มเจริญหรือเรียกระยะหางปลา
4. การรดน้ำ ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ ตลอดช่วงที่กำลังติดผล
5. จดบันทึกวันดอกบาน ของแต่ละรุ่น แต่ละต้นไว้ พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้โดยใช้เชือกสีที่แตกต่างกันในการค้ำกิ่งที่ติดผล แต่ละรุ่นเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว
6. การป้องกันกำจัดโรคแมลง ตรวจสอบและป้องกันกำจัด โรคผลเน่า หนอนเจาะผล ทุเรียน ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย
7.การป้องกันหนูหรือกระรอก เข้าทำลายกัดกินทุเรียน ถ้าสวนมีสัตว์รบกวนควรหาวิธีป้องกันดังนี้
- ทำความสะอาดเก็บ สิ่งของที่รกร้างกิ่งไม้รอบสวน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัย
ของหนูกระรอก
- ตัดกิ่งไม้บริเวณรอบต้นทุเรียนของต้นไม้อื่นๆเพื่อตัดเส้นทางหนูได้
- นำสังกะสีแผ่นเรียบกว้าง 30 เซนติเมตร ยาวตามขนาดของต้นพันรอบโค่นต้นทุเรียน
เป็นการป้องได้เฉพาะหนู
- การป้องอีกวิธีหนึ่งคือการห่อ ให้ใช้ถุงพลาสติกใส่ขนาด 40x60 เซนติเมตร ตัดก้น
ถุงและตัดข้างยาว 30 เซนติเมตร นำมาห่อทุเรียน ควรห่อให้คลุมตั้งแต่กิ่งที่ลูกทุเรียน
นั้นติดอยู่ปล่อยชายถุงให้อากาศถ่ายเท่ได้สะดวก ป้องกันได้ทั้งหนู กระรอก นก
ระยะที่ 5 การเก็บเกี่ยว พฤษภาคม มิถุนายน
เลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนแก่แล้วเท่านั้น อาจจะวิธีนับวันหรือสังเกตลักษณะตามพันธุ์ก็ได้
1. ควรกำจัดวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่ให้เก็บเกี่ยวได้สะดวก
2. เก็บเกี่ยวผลที่แก่แล้ว โดยสังเกตจากลักษณะของผลและ นับอายุ
ลักษณะผลเมื่อทุเรียนแก่จะพบการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- สีเปลือกจะเปลี่ยนจากเขียวสดเป็นสีน้ำตาลหรือเขียวแกมเทา แต่ผลที่อยู่นอกทรงพุ่มโดนแสงแดดมากจะมีสีน้ำตาลมากกว่าผลที่อยู่ ในทรงพุ่ม
- ก้านผลเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สาก ตรงรอยต่อของระหว่าง ก้านผลตอนบนกับก้านผลตอนล่าง (ปลิง) จะบวมใหญ่ เห็นรอยต่อ ชัดเจน
- ปลายหนามแห้งจะไหม้จากปลายนหนามเข้ามามีสีน้ำตาล หนามกางออกร่องหนาค่อน ข้างห่าง
- สังเกตรอยแยกบนพูจะเห็นได้ชัดเจนเป็นเส้นสีเหลือง ยกเว้นพันธุ์ก้านยาว จะเห็นไม่ชัด
- ชิมปลิง ทุเรียนแก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบ น้ำใส ๆ ไม่ข้นเหนียว เหมือนทุเรียนอ่อน ชิมดูจะมีรสหวาน
- การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมี เสียงดังหลวม ๆ
- ทั้งนี้เมื่อผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่สุกและร่วงก็เป็นสัญญาณ เตือนว่าทุเรียนที่เหลือซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันเริ่มแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว
การนับอายุ
โดยนับจำนวนวันหลังจากดอกบานจนถึงวันที่ผลแก่ พร้อม ที่จะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ เช่น พันธุ์ก้านยาวใช้เวลา 120-135 วันและ พันธุ์หมอนทองใช้เวลา 140-150 วัน
การนับอายุนี้อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย ขึ้นกับอุณหภูมิ ของอากาศ เช่น อากาศร้อนและแห้งแล้ง ทุเรียนจะแก่เร็วขึ้น ฝน ตกชุกความชื้นสูงทุเรียนจะแก่ช้าเพื่อสะดวกในการจำและไม่ผิดพลาดในการตัดทุเรียนอ่อน เกษตรกรควรจดบันทึกวันที่ดอกบาน และทำเครื่องหมายรุ่น ดังนี้
- จดบันทึกวันที่ดอกทุเรียนบานของแต่ละพันธุ์ และแต่ ละรุ่น
- ทำเครื่องหมายรุ่นโดยในขณะที่ค้ำหรือโยงกิ่งด้วยเชือก ควรใช้สี ที่แตกต่างกันใน การค้ำหรือโยงกิ่งแต่ละรุ่น ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการตัดทุเรียน ที่แก่มีคุณภาพดี
วิธีการเก็บเกี่ยว
- ตัดเหนือปลิงของก้านผล ด้วยมีดคมและสะอาดส่งลงมา ให้คนที่รอรับข้างล่าง อย่าให้ผลตกกระทบพื้น วิธีที่นิยมคือใช้เชือกโรย และใช้ตระกร้ารองรับทุเรียน
- ห้ามวางผลทุเรียนบนพื้นดินในสวนโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อรา ที่เป็นสาเหตุของโรคผลเน่าติดไปกับผลทุเรียน
-ควรวางทุเรียนในเข่งหรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้
- ทำความสะอาด คัดคุณภาพ คัดขนาดก่อนจำหน่าย